เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

การตามกำหนดรู้เวทนา(เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน)
เวทนา หมายถึง ความรู้สึกหรือความเสวยอารมณ์ที่ปรากฏในขณะปฏิบัติทั้งทางกายและจิตใจ เช่น ความรู้สึกสุขสบายหรือทุกข์ที่ปรากฏขึ้นในทางร่างกาย ความรู้สึกเป็นสุขใจ ดีใจ ปลาบปลื้มฯ หรือทุกข์ทางใจ อึดอัด ขัดเคือง ไม่พอใจ ไม่สบายใจ เป็นต้น เวทนานี้เมื่อจำแนกออกไปแล้วมี ๓ ประเภท คือ สุขเวทนา ๑ ทุกข์เวทนา ๑ อุเบกขาเวทนา ๑ ซึ่งถ้าหากมีความชัดเจนกว่าอาการพอง - ยุบ ควรตั้งใจกำหนด จนกระทั่งเวทนาหรือความเสวยอารมณ์นั้นๆ จะเสื่อมไป หายไป ถ้ามีอารมณ์อื่นที่ชัดเจนมากกว่านี้อีก ก็ให้ย้ายไปกำหนดอารมณ์นั้นทันที ควรกำหนดทีละอารมณ์ ไม่ควรกำหนดหลายอย่างพร้อมกัน เพราะจะทำให้เกิดความสับสน จนก่อให้เกิดความเครียดมากขึ้น ซึ่งอาจจะไม่เป็นผลดีแก่นักปฏิบัติใหม่
ในมหาสติปัฏฐานสูตรบาลี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า
สุขํ วา เวทนํ เวทยมาโน สุขํ เวทนํ เวทยามีติ ปชานาติ.
ภิกษุกำหนดรู้เวทนาที่เป็นสุขอยู่ ในขณะที่ตนกำลังเสวยเวทนาที่เป็นสุข
ทุกฺขํ วา เวทนํ เวทยมาโน ทุกฺขํ เวทนํ เวทยามีติ ปชานาติ.
ภิกษุกำหนดรู้เวทนาที่เป็นทุกข์อยู่ ในขณะที่ตนกำลังเสวยเวทนาที่เป็นทุกข์
อทุกฺขม สุขํ เวทนํ เวทยมาโน อทุกฺขมสุขํ เวทนํ เวทยามีติ ปชานาติ.
ภิกษุกำหนดรู้เวทนาที่วางเฉยอยู่ ในขณะที่ตนกำลังเสวยเวทนาที่วางเฉย

วิธีปฏิบัติ
ขณะปวด กำหนดว่า ปวดหนอๆ ขณะเจ็บ กำหนดว่า เจ็บหนอๆ ขณะชา กำหนดว่า ชาหนอๆ ขณะคัน กำหนดว่า คันหนอๆ ขณะเมื่อย กำหนดว่า เมื่อยหนอๆ ขณะแสบ กำหนดว่า แสบหนอๆ เป็นต้น
การกำหนดเวทนารู้เวทนานี้นักปฏิบัติต้องมีความอดทนค่อนข้างมาก เพราะถ้ามีความอดทนน้อยคอยเปลี่ยนอิริยาบถอยู่บ่อยๆ จะทำให้เสียสมาธิมากถ้าทนไม่ไหวจริงๆ ก็ควรกำหนดเวลาในการนั่งให้น้อยลงและค่อยๆ เพิ่มไปทีละ ๓-๕-๑๐ นาที เมื่อครบตามเวลาที่ตั้งใจไว้แล้วก็ให้เปลี่ยนอิริยาบถไปเดินจงกรม เมื่อเดินจงกรมครบตามเวลาที่ได้กำหนดไว้ก็กลับมานั่ง พยายามเดินนั่งสลับกันไม่ควรจะเดินหรือนั่งอย่างเดียว เพราะจะทำให้อิริยาบถหรืออินทรีย์ ๕ ไม่สม่ำเสมอกัน ถ้าเป็นไปได้ควรเดินและนั่งให้เท่าๆ กันไปตั้งแต่เริ่มต้น การตามกำหนดรู้เวทนานี้ นับเนื่องในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
จะวางใจอย่างไรในเมื่อต้องเผชิญหน้ากับทุกขเวทนา? นักปฏิบัติต้องวางใจให้เป็นกลาง อย่าไปอยากให้หาย อย่าไปอยากเอาชนะ อย่าไปอยากรู้ว่ามันจะดับหรือไม่ดับอย่างไร ให้ทำหน้าที่เพียงแค่การเฝ้าดูอย่างมีสติเท่านั้น

การกำหนดเวทนามีอยู่ ๓ วิธี
๑. การกำหนดแบบเผชิญหน้า คือ ตั้งใจกำหนดแบบไม่ท้อถอยตายเป็นตาย โดยเอาจิตไปจดจ่อที่อาการปวด จี้ลงไปบริเวณที่กำลังปวดมากที่สุด วิธีนี้นักปฏิบัติจะค่อนข้างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องใช้พลังจิตอย่างทุ่มเทและจดจ่อมากที่สุด แต่ก็มีประโยชน์ในการรู้แจ้งทุกข์ลักษณะอย่างพิเศษ
๒. การกำหนดแบบลอบทำร้าย คือ ตั้งใจกำหนดแบบจู่โจมในตอนแรกๆ พอรู้สึกว่ากำลังความเพียรมีน้อยก็ถอยออกมาเตรียมความพร้อมใหม่ เมื่อพร้อมแล้วก็เข้าไปกำหนดอีกครั้งหนึ่ง เช่น ขณะกำหนดปวดอยู่นั้นความปวดกลับทวีความรุนแรงมากขึ้นจนไม่สามารถทนไหว จึงหยุดกำหนดรู้อาการปวดแต่เปลี่ยนไปกำหนดรู้อาการพอง-ยุบ หรืออารมณ์อื่นๆ แทนแต่ยังไม่ถึงขั้นที่ต้องเปลี่ยนอิริยาบถไปยืนหรือเดินในขณะนั้น
๓. การกำหนดแบบเฝ้าดูหรือสังเกตการณ์ คือ เมื่อรู้สึกว่าปวดหรือเจ็บมากก็มิได้ไปกำหนดตอกย้ำลงไปอีก เพียงแต่กำหนดรู้ดูด้วยสติปัญญาอยู่เฉยๆ เช่น กำหนดว่า ปวดหนอๆๆเจ็บหนอๆๆ เมื่อยหนอๆๆ ชาหนอๆๆ หรือ รู้หนอๆๆ เป็นต้น ไม่เน้นหรือย้ำอุปมาเหมือนทหารที่เฝ้าดูข้าศึกอยู่บนที่สูงหรือหอสังเกตการณ์ ไม่ได้ทำการสู้รบกับข้าศึกแต่ประการใด เพียงแต่เฝ้าสังเกตการเคลื่อนไหวของข้าศึกเท่านั้น